
1.ประยุกต์พระคัมภีร์
การประยุกต์พระคัมภีร์ไม่ได้หมายความว่าตัดหรือเพิ่มพระคัมภีร์
เราเชื่อว่าหนังสือ 66 เล่มในพระคัมภีร์ได้รับการดลใจจากพระเจ้า (2 ทิโมธี 3: 16-17) และพระคัมภีร์ไม่มีข้อผิดพลาด(ทิตัส 1:23)
การประยุกต์พระคัมภีร์เป็นการใช้คำที่ผู้ฟังเข้าใจได้ทันทีในวัฒนธรรมของเขา ซึ่งสิ่งนี้เป็นกระบวนการที่อัครสาวกเปาโลได้ปรับใช้อย่างเหมาะสมกับผู้ฟัง ในกิจการ 13 ผู้ฟังเป็นชาวยิว กิจการ 14 ผู้ฟังเป็นเหมือนคนไทยพุทธที่เชื่อเรื่องวิญญาณและพระหลายองค์ กิจการ 17 ผู้ฟังเป็นนักปราชญ์ และคนนอกศาสนา เราสังเกตได้ว่าอัครสาวกเปาโลใช้วิธีพูดต่างกันไป แต่สุดท้ายความหมายของข่าวประเสริฐทุกครั้งเหมือนเดิมคือ "พระเยซูเป็นพระเจ้าที่ได้ตายไถ่บางทุกคนและพระองค์ฟื้นขึ้นมาแล้ว"
คำว่า “สาธุการ” เราได้ยินเสมอในบทเพลงหรือคำอธิษฐาน คำว่า “สาธุ” เราได้ยินเฉพาะคนที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้นที่พูดคำนี้ คำว่า “โมทนา” เราได้ยิน เราเข้าใจความหมายว่าคือการโมทนาพระคุณพระเจ้า คำว่า “อนุโมทนาบุญ” เราได้ยิน เราไม่เข้าใจ ขณะที่คนไทยพุทธเข้าใจอย่างชัดเจนว่า การอนุโมทนาบุญคือการศรัทธาหรือเชื่อเท่านั้น แล้วก็ได้รับผลบุญนั้นมาเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องมีการประพฤติ เป็นความหมายเดียวกับ “พระคุณ” หรือจะกล่าวว่า “โมทนาพระคุณ” ดังนั้น เมื่อผู้ฟังเป็นคนไทยพุทธทั่วไป เมื่อเราใช้คำว่า “เพียงอนุโมทนาบุญร่วมกับพระเยซูคริสต์ท่านจะหลุดพ้นจากเวรกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด” ประโยคนี้ดึงความสนใจพวกเขาที่กำลังแสวงหาทางหลุดพ้น
ภาษาที่ต่างกัน แต่ความหมายเดียวกัน จึงเป็นสิ่งที่เราควรนำมาใช้ไม่ใช่เพื่อเรา แต่เพื่อความสบายใจของพวกเขา เพื่อประโยชน์ของพวกเขา เพื่อเขาจะรอดได้เมื่อคนไทยพุทธอธิษฐานถึงพระเยซู และลงท้ายว่า “สาธุ” สำหรับพวกเขามีความหมายว่า “ให้เป็นไปอย่างนั้น” จากนั้นพวกเขาจะพนมมือขึ้นเหนือศีรษะ เป็นลักษณะการเคารพบูชาอย่างหนึ่ง แล้วลูบศรีษะลงมาเป็นสัญลักษณ์ว่า “สำเร็จตามนั้น” หรือ “ได้รับแล้ว” “เข้ามาแล้ว” ซึ่งเป็นภาษากายที่แสดงออกด้วยความเชื่อในใจที่ลึกซึ้งมาก ขณะเดียวกันเราสังเกตว่า เมื่อเรากล่าวลงท้ายว่า “อาเมน” พวกเขาไม่พนมมือเหนือศีรษะ หรือลูบศีรษะเหมือนเวลาที่เรากล่าวคำว่า “สาธุ” เรื่องเล็กๆน้อยๆนี้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่า คนไทย คือ คนไทย พวกเขามีความเชื่อในแบบของพวกเขาและด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เข้าใจได้ว่าการทำสิ่งนี้ ทำให้พระนามของพระเจ้าและคำสอนของพระเจ้าถูกเหยียดหยามไปเสียแล้ว (1ทิโมธี1:6) เพราะเราสอนผิดไปจากพระคัมภีร์ (1ทิโมธี1:3) เรื่องนี้ถูกนำมาเป็นประเด็นที่โต้เถียงกัน(1ทิโมธี1:7)
ความจริงที่ว่าผู้คนจากทุกเผ่าพันธุ์ทุกภาษาและทุกประเทศ จะนมัสการพระเมษโปดกในวันเดียว (วิวรณ์ 7: 9-10) ถ้าพระเจ้าเองเป็นผู้เริ่มต้น ทำให้เรามีหลายภาษา มีหลายเผ่า แน่นอนพระองค์ย่อมรู้ว่าพวกเราจะมีวัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างกันด้วย ถ้าอย่างนั้น เป็นไปได้ไหม ที่พระองค์ไม่ต้องการให้โลกของเราใบนี้ มีสิ่งเดียว แบบเดียว อย่างเดียว การปรับใช้คำ ไม่ได้เปลี่ยนพระกิตติคุณ ข่าวประเสริฐยังคงความสมบูรณ์อยู่ "พระเยซูเป็นพระเจ้า ที่มาตายไถ่มนุษย์ทุกคนพระองค์ได้ฟื้นขึ้นมาแล้ว” สิ่งนี้เป็นหัวใจที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นสิ่งสำคัญที่แก้ไขไม่ได้ เพิ่มหรือตัดออกไม่ได้
พี่น้องที่รัก เวลานี้เรามาไกลมากจากประวัติศาสตร์มากแล้ว การเรียนประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับข้าพเจ้า หากแต่ถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์ประเทศไทย แล้วเรียนรู้ แก้ไข ปรับปรุง เหมือนกับที่ปัจจุบันนี้ ผู้คนกำลังปรับตัวในการทำธุรกิจยุคนี้ให้สำเร็จ เขาใช้หลักการของเรา กฎแห่งการดึงดูด กฎแห่งจักรวาล เขาเอาของเราไปเป็นของเขา และก็ทำเป็นธุรกิจ แต่เราผู้ที่พระเจ้าทรงเรียก ไม่ได้มีเป้าหมายในความร่ำรวย แต่เราอยากทำทุกวิถีทาง ยอมพูดทุกอย่างให้เข้าใจได้ ให้ง่าย ให้ลึกซึ้งถึงก้นบึ้งในใจของพวกเขา เราจะไม่ยอมแพ้คนที่อยู่ในความมืด เพราะพระเจ้าจะให้สติปัญญาแก่เรา (ลูกา 16:8)
การใช้คำให้เหมาะสมกับผู้ฟัง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และแน่นอนสิ่งนี้ทำให้เรามีชัยไปกว่าครึ่ง ยังมีกุญแจสำคัญอื่นๆ ที่จะเปิดประตูให้ข่าวประเสริฐไปยังกลุ่มต่างๆได้ หากเราสนใจ เราเรียนรู้ ลองทำ ลองแก้ไข ปรับปรุง ให้สิ่งเหล่านี้ดีขึ้น ได้รับผลตอบรับมากขึ้น เราก็จะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้คำได้อย่างเป็นธรรมชาติ